วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

อินเทอร์เน็ต'' โลกไร้พรมแดนที่ต้องมีขอบเขต

            ทุกวันนี้เทคโนโลยีสารสนเทศเจริญ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าอาจทำให้หลายคนตกกระแสกันแบบ ง่าย ๆ โดยเฉพาะ “อินเทอร์ เน็ต” เทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งที่ทำให้โลกไร้พรมแดนมากมายไปด้วยรูปภาพ เรื่องราว เนื้อหาเกม ที่มีให้เลือกได้ตามถนัด ถูกย่อลงมารวมอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ตรงหน้า
           พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีทั้งที่ใช้ให้เกิดประโยชน์และการนำไปใช้แบบผิดวิธี เช่น ใช้เพื่อลามกอนาจาร ที่กำลังเป็นที่นิยมที่สุดอยู่ในขณะนี้ คือ คลิปวิดีโอโป๊ เว็บไซต์ลามก และขายหวิว หรือการโชว์สัดส่วนผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วเก็บค่าดู ซึ่งระบาดหนักในหมู่วัยรุ่นและยากต่อการควบคุม การสนทนาบนเน็ต เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังเป็นที่ นิยมอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ วัยรุ่นเนื่องจากเป็นวัยที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความคิด ย่อมต้องการเพื่อนเพื่อเป็นที่ปรึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยน ทัศนคติ การแชตทำให้ได้เพื่อนใหม่ ๆ ทางอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาสามารถเปลี่ยนเพื่อนคุยไป ได้ตามความต้องการ แต่การได้เพื่อนใหม่จากวิธีนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะเราไม่อาจรู้พฤติกรรมและนิสัยที่แท้จริงของ คู่สนทนาได้เลย ส่วนการบอก ชื่อจริง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้จริงนั้น ย่อมเป็นภัยต่อตนเองโดยเฉพาะกับผู้หญิง  การพัฒนาปรับปรุงรูปแบบของ เกม ที่มีสีสันสดใส สวยงาม ชวนให้ติดตามและหลงใหล สร้างความเพลิดเพลินเป็นสิ่งที่จูงใจให้เด็ก ๆ และเยาวชนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ได้อย่างง่ายดาย จนฮิตติดลมบนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยองค์ประกอบที่เอื้ออำนวยในการเล่นที่ง่าย เพราะแทบทุกบ้านจะมีคอมพิวเตอร์ ส่วนที่ไม่มีก็สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ทั่ว ทุกหัวระแหงซึ่งมีให้เลือกได้ตามใจชอบเด็กและเยาวชน รวม ถึงผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยจึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ บางคนเล่นจนหามรุ่งหามค่ำ โดยไม่ยอมทำกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น สร้างความวิตกให้กับผู้เป็นพ่อแม่ และบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เล่าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการเล่นเกมของเด็กให้ฟังว่า เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน บางครั้งการเล่นอินเทอร์เน็ต ติดเกมของเด็ก เป็นปัญหาปลายทาง เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่จัดระบบเรื่องระเบียบวินัย ไม่มีกิจ กรรมเสริมให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่มีกีฬา ไม่มีดนตรี ที่สำคัญ อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการสื่อสารกับเพื่อน ๆ สมัยนี้ คนไหนเล่นเอ็มเอสเอ็นไม่ได้ ใครไม่มีไฮไฟว์ ก็จะเชย เด็กจึงต้อง เข้าไปศึกษา เรียนรู้โดยอัตโนมัติ ทุกคนต้องมีอีเมล เป็นการตามกระแสสังคมของเด็กในยุคนี้“ลักษณะที่เรียกว่าเล่นจนเกินพอดี ทางจิตเวชมุ่งไปที่สูญเสียเรื่องการเรียน เสียงานในความรับผิดชอบ เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ประการต่อมา ต้องเพิ่มชั่วโมงในการเล่น เดิมที่เคยเล่น 1 ชั่วโมงไม่พอต้องเพิ่มเป็น 2 เป็น 3 ไปเรื่อย ๆ รวมทั้ง ขาดการเล่นไม่ได้ เมื่อไม่ได้เล่นจะหงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียวกับคนรอบข้างที่ไม่ให้เล่น หรือเกิดอาการหงอยเหงา และเสียการทำหน้าที่พลเมืองดีทั่ว ๆ ไป เช่น ลักขโมยเงิน เล่นการพนัน และดื่มสุรา”  ในความเป็นจริงการเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ตนั้น ถือเป็นการคลายเครียดและเสริมสร้างการพัฒนาสมองให้กับเด็ก ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะตามเงื่อนไข ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดในเกมได้ ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตก็เป็นช่องทางหนึ่งในการหาข้อมูลเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ที่รวดเร็วทันใจ  “แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดโลกอินเทอร์เน็ตเป็นการเปิดสื่อทุกอย่างเข้ามา ในบ้านที่รวดเร็วซึ่งต้องระวัง เพราะสิ่งที่ดีบางครั้งมาไม่ถึงลูกเรา ถึงแม้เว็บไซต์ที่ล่อแหลมจะมีการบล็อกก็ตาม ปัจจุบันนี้เด็กสามารถแก้เข้าไปได้ ทำให้เขาสามารถเข้าเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย ไม่เหมาะกับกลุ่มพวกเขาได้ง่าย โดยไม่มีตัวกลั่นกรอง ต่างจากการไปซื้อหนังสือสักเล่มหนึ่ง เด็กมักจะไม่ไปคนเดียวจะมีเพื่อนหรือคนอื่นไปด้วย ซึ่งเรียกว่ามีอุปสรรคในการเอื้อมไปไม่ถึงสิ่งดีไม่ดี เหล่านั้น แต่การเข้าเว็บไซต์ ไม่มีอะไรดึงลูกเอาไว้ ฉะนั้นเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วมาก”
              หากลูกมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าติดเกมหรืออินเทอร์เน็ต อย่าเพิ่งไปโทษว่า สิ่งที่ลูกทำดีหรือไม่ดี อย่าเพิ่งไปตัดสิน อย่าเพิ่งตกใจ ขอให้คุยกันระหว่างพ่อแม่ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วค่อย ๆดึงลูกกลับเข้ามา พยายามเข้าใจจิตใจลูกให้มากขึ้น ซึ่งการเข้าไปสู่การเล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตของลูกอาจจะไม่ถึงขั้นติด และการติดอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่พ่อแม่เป็นห่วงว่าจะเหมือนกับการติดยาเสพติดหรือติดบุหรี่  “ถึงแม้จะเป็นความรุนแรงในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหันหน้ามาคุยกันแล้วค่อย ๆ เข้า ถึงค่อย ๆ ดึงลูกกลับมา เข้าใจหัวใจของลูกมากขึ้นว่าลูกต้องการอะไร ที่ลูกติดเกม ติดอินเทอร์เน็ตนั้นมาจากสาเหตุใด อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าลูกติด ค่อย ๆ คิดว่าเกิดจากอะไรแล้วจัดลำดับการแก้ไข ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง สุดท้ายความรักจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร เข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก ต้องการให้ลูกเดินทางในทางที่ถูก ที่ควร แต่สุดท้ายขอให้รู้ว่านั่นคือพฤติกรรม อย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่ตัวตนของ ลูกที่แท้จริง ลูกเรายังมีสิ่งดี ๆ มากมายในอีกด้านหนึ่ง เชื่อว่าความรักจะดึงลูกกลับมาได้ ให้เวลากับเขาให้มากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกทำ แล้วลูกจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับมา” พญ.สุธิรา กล่าวทิ้งท้าย
ทุกปัญหาแก้ไขได้...หาสาเหตุให้เจอ...เลือกทางแก้ให้ดี..แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น...

สูตรสำเร็จลดภัยอินเตอร์เน็ตนพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อคิดหรือหลักปฏิบัติ 10 ข้อ
        1.สร้างวินัยและความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ให้เด็กทำงานบางอย่างภายในบ้าน โดยฝึกวินัยมาตั้งแต่เด็ก ๆ
        2.ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ควรมีคอมพิวเตอร์ไว้เครื่องเดียวหากมีลูกหลายคน เพราะเด็กจะต้องสลับกันเล่น รวมทั้งนำคอมพิวเตอร์มาไว้ในห้องโถงของบ้านจะได้สอดส่องได้ง่ายว่าเขากำลังเล่นอะไรอยู่
       3.ใช้มาตรการทางการเงิน โดยให้เงินแต่พอดีเพื่อลดโอกาสในการไปเล่นตามร้าน พ่อแม่ ต้องใจแข็งให้เด็กรับผลจากการกระทำของตนเอง เมื่อเอาเงินไปเล่นเกมหมดอย่าให้เงินเพิ่ม ทำให้เด็กจะมีเงินที่กระตุ้นให้อยากเล่นน้อยลง
       4.ฟังและพูดด้วยดีต่อกัน อย่าใช้อารมณ์แล้วพูดในเชิงตำหนิ จะยิ่งทำให้การสื่อสารพูดคุยกันทำได้ยากขึ้น
       5.จับถูก ชื่นชม ให้กำลังใจ พ่อแม่จะต้องฝึกการจับถูกในตัวลูก ชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อเขาทำดี ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้ใจหรือว่าเหลิงเพราะการชื่นชมจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กหันมาฟัง พ่อแม่ อย่าเอาแต่ตำหนิอย่างเดียว
       6.ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม และบังคับใช้อย่างเข้มแข็งแต่อ่อนโยน ในลักษณะอ่อนนอก แข็งใน โดยให้เด็กมีส่วน ร่วมในการกำหนดกติกา เด็กยิ่งโตขึ้นพ่อแม่จะใช้อำนาจต่อเขาได้ลดลง ควรใช้การเจรจาพูดคุยและตกลงกัน
      7.มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ให้เด็กได้ไปเล่นดนตรี กีฬา หรือทำในสิ่งที่ถนัด เมื่อทำได้ดี มีคนชมจะทำให้มีความภูมิใจและอยากที่จะทำอีก ก็จะทำให้ลดการเล่นเกมลงไปได้
      8.สร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ในครอบครัว พ่อแม่ควรจัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้ดี มีการชื่นชมกัน
      9.ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็ก ๆ ในใจของพ่อแม่เอง พ่อแม่ให้รางวัลและสร้างความสุขในใจด้วยการมองตัวเองในแง่ดี มองความสำเร็จในมิติอื่น ๆ ของชีวิตบ้าง
    10.เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราทันที พ่อแม่ต้องไม่ทำให้บรรยากาศในครอบครัวหม่นหมอง มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เปลี่ยนทัศนคติว่าเด็กเล่นเกมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะทำอย่างไรให้การเล่นเกมของเด็กเป็นเพียงแค่การผ่อนคลาย.
                                                                                                แหล่งที่มา : เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น